บทความเรื่อง ความสัมพันธ์กับพระเจ้า
( Intimacy with god )
แบ่งปันพระพรโดย ศจ.ดร. นันทชัย มีชูธน
องค์ประกอบหลักอันที่ 3 ที่ทำให้เกิดความทนทุกข์แก่มนุษย์คือ ขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้า ปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ใช่เกิดจากการเลี้ยงดูเท่านั้น แต่เกิดจากมนุษย์ขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้า
คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ มนุษย์ต้องกลับมามีความสัมพันธ์กับพระเจ้า มนุษย์ต้องกลับมาคืนดีกับพระเจ้า ให้พระองค์ยอมรับเราและรับความรักของพระองค์เหมือนเดิม มนุษย์จะมีภาพลักษณ์ของตัวเองอย่างสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากภาพลักษณ์ที่ครอบครัวให้มาจากการเลี้ยงดูที่ดีหรือไม่ดีก็ตามที มนุษย์เมื่อมามีความสัมพันธ์กับพระเจ้าแล้ว เขาจะรู้ว่าเขาเป็นของพระเจ้า พระเจ้าทรงรักมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไข มนุษย์คนใดที่มามีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้า เขาก็จะมีภาพลักษณ์เกี่ยวกับตนเองอย่างมั่นคง และอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาพลักษณ์ การวางใจในพระเจ้าและการพึ่งพาพระคำของพระองค์ จะทำให้เราได้พบกับความอุดมสมบูรณ์ในสิ่งที่เราขาดเรื่องความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ 3 ประการ
ประการแรก
เราจะรู้ว่า เราถูกยอมรับจากพระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ เราจะรู้สึกได้ถึงเราเป็นคนสำคัญ และเราเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า“ด้วยว่าซึ่งเราทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อ และมิใช่โดยตัวเราทั้งหลายกระทำเอง แต่พระเจ้าทรงโปรดประทานให้ ความรอดนั้นจะเนื่องด้วยการกระทำก็หามิได้เพื่อมิให้คนหนึ่งคนใดอวดได้” (เอเฟซัส 2 : 8-9 )
ประการที่สอง
เราจะรู้ว่าเราได้รับการยกโทษบาป ความผิดทั้งหมดได้รับการอภัย ความดีของพระองค์จุติในชีวิต เรากลายเป็นคนดี คนชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า“ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงช่วยเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น” ( 1 ยอห์น 1 : 9 )
ประการที่สาม
เราจะไม่รู้สึกไร้คุณค่า เราจะรู้สึกถึงพลังของพระองค์ ที่จะช่วยให้เรากระทำได้ในทุกสิ่ง เพราะพระเจ้าทรงสถิตกับเราตลอดเวลา“ท่านจงอย่าเป็นคนเห็นแก่เงิน จงพอใจในสิ่งที่ท่านมีอยู่ เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสว่า เราจะไม่ละท่านหรือทอดทิ้งท่านเลย” ( ฮีบรู 13 : 5 )
เราจะเป็นคนที่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ ให้เราเป็นตามการทรงสร้าง เราต้องรู้จักตัวเราเอง และรู้จักสิ่งที่พระเจ้าบอกกับเรา และดำเนินการตามที่พระองค์ได้บอก คือมอบชีวิตให้พระองค์อย่างสิ้นเชิงด้วยความรักในพระองค์ “พระเยซูทรงตอบเขาว่า จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า” ( มัทธิว 22 : 37 )
รักพระเจ้าอย่างสิ้นสุดใจ หมายถึง รักพระองค์อย่างเต็มใจและหมดใจ ส่วนรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิต หมายถึง การยอมมอบถวายตัวของเราทั้งหมดกับพระเจ้า คือชีวิตความคิดฯลฯ
ส่วนการรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดความคิด หมายถึง การรักพระเจ้าที่ด้วยการตัดสินใจเชื่อฟังพระองค์ตามความรู้ที่เรามีต่อพระองค์ รู้เกี่ยวกับพระองค์มากก็ต้องเต็มใจเชื่อฟังมาก ถ้าเรารักพระเจ้าอย่างนี้แล้ว ความทุกในชีวิตจะถูกพิชิตอย่างราบคาบ ความเจ็บใจ ความเจ็บปวดใดๆ ก็จะหมดไปในชีวิต
การทนทุกข์อันเกิดจากองค์ประกอบ 3 ประการที่กล่าวไปคือ การขาดภาพลักษณ์ของตนเองก็ดี การขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นก็ดี และสุดท้ายการขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้าก็ดี 3 สิ่งนี้เกี่ยวพันกันหมด การมีความสุข การไม่มีความทุกข์ร้อนในจิตใจ เกิดจากการไม่ทำบาป การรักษามโนธรรมให้ใสสะอาด และการจัดลำดับความสัมพันธ์และทำสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเป็นประการแรกเสมอ
ถ้าเราจะให้ใครยอมรับเรา เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่าพระเจ้ารับเราโดยไม่มีเงื่อนไข“เพื่อจะให้เป็นที่สรรเสริญพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ซึ่งทรงโปรดประทานแก่เราในพระเยซูคริสต์ทรงเป็นที่รักของพระองค์” ( เอเฟซัส 1 : 6 ) พระเจ้าทรงรู้จักเราก่อนเกิด“พระเนตรของพระองค์ทรงเห็นส่วนประกอบของข้าพระองค์ วันทั้งหลายทุกๆวันที่กำหนดให้ข้าพระองค์นั้น ก็ทรงจารึกไว้ในพระตำรับของพระองค์ เมื่อครั้งยังไม่เกิดวันนั้นเลย” ( สดุดี139 : 16 )
การเติบโตในความรู้และความเข้าใจในชีวิตเป็นขบวนการ พระเจ้ายังทำกิจในเราไม่เสร็จ “ข้าพเจ้าแน่ใจว่าพระองค์ผู้ทรงตั้งต้นการดีไว้ในพวกท่านแล้ว จะทรงกระทำให้สำเร็จจนถึงวันแห่งพระเยซูคริสต์” ฟิลิปปี 1 : 6 และบางที แม้ว่าเราเองอาจจะไม่เข้าใจในความทุกข์ยากต่างๆ ที่เกิดกับเรา แต่พระเจ้าก็ทรงมีแผนการกับเรา โดยใช้สิ่งเหล่านั้น “เรารู้ว่า พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่งคือ คนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์” (รม. 8:28) พระเจ้าทรงสนพระทัยในคุณภาพชีวิตภายในคนมาก กว่าความหล่อความสวยภายนอก “เหตุฉะนั้นเราจึงไม่ย่อท้อ ถึงแม้ว่ากายภายนอกของเราจะทรุดโทรมไปแต่จิตใจภายในนั้นก็ยังคงจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน” (2 โครินธ์ 4 : 16) ถ้าเราฉลาดเราก็จะไม่ไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเพราะสามารถทำให้เกิดความหยิ่งและความท้อใจทั้งในเราและในคนอื่นได้
“เราไม่ต้องการที่จะเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนบางคนที่ยกย่องตัวเอง แต่เมื่อเขาเอาตัวของเขาเป็นเครื่องวัดกันและกัน และเอาตัวเปรียบเทียบกันและกันแล้ว เขาก็เป็นคนขาดความเข้าใจ” ( 2 โครินธ์ 10 :12 )