ลักษณะประจำชาติของคนไทย

คำสอน

ลักษณะประจำชาติของคนไทยแสดงออกทาง

ระบบค่านิยม และระเบียบแบบแผนพฤติกรรมของคนไทย

1. หยิ่งในศักดิศรีและแกร่งในตัวตน (Ego orientation)

            - มีความเป็นตัวของตัวเองสูง

            - ชอบรักษาหน้าตาและศักดิ์ศรี

            - มีภาพลักษณ์ของตัวเองดี

- ใครหยามศักดิ์ศรีไม่ได้ (ตัวอย่างเช่น คนไทยจะไม่พอใจถ้ามีคนหยามชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และบุพการีจนมีคำพูดว่า ฆ่าได้หยามไม่ได้ ยอมหักไม่ยอมงอ เป็นต้น)

คุณสมบัติในข้อนี้ทำให้คนไทยต้องยิ้มบ่อย ต้องสุภาพและอ่อนน้อม ไม่กล้าว่าใครตรงๆ เกรงใจคน เพราะไม่อยากไปทำกระทบกระเทือนผู้หนึ่งผู้ใด อาการเช่นนี้บ่งบอกว่า คนไทยไม่ต้องการทำอะไรให้กระทบกระเทือนใคร

หากใครหยามและล่วงละเมิดข้อนี้ คนไทยบางคนจะแสดงความก้าวร้าว อารมณ์ร้ายและร้อน และระเบิดอารมณ์เข้าใส่ผู้ล่วงละเมิด (สื่อมวลชนลงข่าวทำนองนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์มาก เช่น กรณีนพ.เปรมศักดิ์และพล.ต.ท. เสรี เป็นต้น)

คนไทยมักจะทนไม่ได้ ที่ใครจะมาลบหลู่ดูหมิ่นศักดิ์ศรี เช่น เจ้านายของบริษัทฝรั่งจำนวนมาก บ่นว่า คนงานไทยมักไม่ค่อยให้ความรวมมือต่อเขาอย่างเงียบๆ เมื่อเจ้านายฝรั่งมีอารมณ์และด่าว่าคนงานไทย ด้วยคำว่า “Damn it” ต่อหน้าคนงานคนไทยมากๆ เมื่อคนไทยเสียหน้าเขาจะไม่ร่วมมือเสียดื้อๆ (Passive cooperation หรือ Silent boycott)

เพราะคนไทยให้ความสำคัญแก่ศักดิ์ศรีเป็นอันดับหนึ่ง คนไทยจึงมีความป้องกันไม่ให้เกิดกรณีนี้ขึ้น ด้วยการรักษาหน้า (รักษาศักดิ์ศรี) โดยไม่ตำหนิคนซึ่งๆ หน้าเกรงใจคนอื่น ไม่ชอบทำให้ใครเสียความรู้สึก ในการติดต่อสื่อสารกับคนไทยทุกระดับชั้น คนไทยจึงรู้สัญชาตญาณของตัวเองว่า จะพูดได้แค่ไหนจะแสดงออกได้แค่ไหนในเรื่องต่างๆกับบุคคลต่างๆ

การทำอะไรให้คนไทยไม่ว่าจะระดับใดถ้าเสียหน้าแล้วถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงยังไม่ปรารถนาจะทำต่อลูกน้องของตน ปัญหานี้เคยเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้นำในกองทัพฯ สมัยหนึ่ง กล่าวคือเมื่อ รตอ. เฉลิม อยู่บำรุง ได้กล่าวพาดพิงถึงคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ ภริยาของพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธว่าเป็น “ ตู้เพชรเคลื่อนที่ ” ทำให้พลเอกเชาวลิตลาออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือน มิถุนายน ปี ค.ศ. 1990 และพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยนั้น ส่งสัญญาณให้รัฐบาล พณ.พล.อ. ชาติชายเอา รตอ. เฉลิม ออกจากรัฐมนตรีของรัฐบาลให้ได้ เมื่อพล.อ. ชาติชายไม่ทำก็ทำให้ผู้นำทหารไม่ไปรับประทานอาหารเช้าวันพุธกับ พณ.พล.อ. ชาติชาย ซึ่งกระทำกันอยู่เป็นปกติ โดยเห็นเหตุผลว่าป่วยเป็นไข้หวัด การไม่ไปร่วมรับประทานอาหารในทำนองนี้เป็นสัญญาณส่งไปยัง พณ.พล.อ.ชาติชายว่า “พวกเราโกรธ และไม่พอใจในการปฏิบัติของท่าน” ในที่สุดของเหตุการณ์นี้ทำให้คณะทหารปฏิวัติและพณ. พล. อ.ชาติชาย ต้องหนีไปต่างประเทศและรตอ. เฉลิม หนีไปหลบที่เดนมาร์ก

คุณสมบัติข้อนี้ทำให้คนไทยมีนิสัยไม่พูดตำหนิใครตรงๆ คนไทยไม่สามารถจะแยกระหว่างความคิดของบุคคล และตัวบุคคลออกจากกันได้ เพราะคุณสมบัติข้อนี้ คนไทยจึงมักไม่กล้าแสดงความคิดกันอย่างตรงๆ เพราะเกรงไปว่าจะไปกระทบ Ego ของคนนั้นเข้า ในการประชุมใดๆ คนไทยจะหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา เพราะคนไทยเกรงว่าจะไปกระทบ ego ของคนอื่น ถ้าจำเป็นจะต้องแสดงความคิดเห็นที่เขาไม่เห็นด้วยจริงๆ แล้ว คนไทยมักจะพูดเบาๆ ให้คนที่ถูกตำหนิคิดเอาเอง หรือไม่ก็จะหาเวลานอกเงียบๆ ไปพูดกับคนนั้นๆภายหลัง ฝรั่งตั้งข้อสังเกตว่า เขาไม่คอยเคยเห็นการโต้เถียงอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ในการประชุมของคนไทย แต่เขาเห็นชัดเจนในการประชุมรัฐสภาบางครั้งของคนเกาหลีและจีนซึ่งมีการตบตีกัน

คุณสมบัติข้อนี้ทำให้คนไทยเป็นคนที่เกรงใจคน อันนี้นักสังคมวิทยาชื่อ Klausner เขียนว่า ฝรั่งไม่เข้าใจในคุณสมบัติข้อนี้ ของคนไทยยิ่งกว่าเรื่องใดๆ (Klausner1981..199) การประกาศพระกิตติคุณจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปกระทบหน้าตาและศักดิ์ศรีของคนไทย เพราะถ้าทำแล้วคนไทยจะปิดใจทันทีและต่อต้านอย่างเงียบๆอยู่ภายใน (Sileneboycott)

การเป็นพยานตรงเกินไป จนผู้ฟังพิจารณาว่าคริสเตียนพูดดูถูกชาติศาสนาพุทธ และพระมหากษัตริย์และจะนำมาซึ่งผลกระทบทางลบ การตำหนิติเตียน การทำให้เสียหน้า การเผชิญหน้า การท้าท้าย การเปรียบเทียบศาสนาระหว่างพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง

การเป็นพยานที่เกิดผล มักเป็นการโอภาปราสัยอย่างสุภาพนุ่มนวล แต่ตีความหมายลึกซึ่งและแสดงจุดยืนของคำสอนของพระคัมภีร์อย่างชัดเจน แต่ข้อควรระวังความเปราะบางของ ego ของคนพุทธด้วย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มักจะนำไปสู่ความลึกซึ่งและทำให้คนพุทธได้เสาะหาและทำให้คนคริสต์ได้สอบถามในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจอย่างลึกซึ่งด้วยตัวของเขาเอง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะดลใจในการสนทนา ให้ลึกซึ่งขึ้นเรื่อยๆ ให้คนพุทธกระหายอยากรู้ในระดับลึกแลเสาะหาคำตอบ ด้วยตัวของเขาเอง

เท่าที่ปรากฏในอดีต คริสเตียนพูดพระกิตติคุณมากเกินไปในเวลาที่ไม่ควรจะพูดมาก และสิ่งที่พูดไปเขามักไม่สนใจจะรู้หรืออยากจะถามเรายกย่องศาสนาคริสต์และดูถูกศาสนาพุทธจนคนพุทธโกรธ แต่เขาก็ไม่แสดงออก เราให้โดยที่คนฟังไม่หิวเราไม่ต้องการสนทนาหรือมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ่ง นอกจากจะจำหน่ายข้อมูลที่เราคิดว่าสำคัญให้ออกไปให้มากและให้หมด ประหนึ่งว่าข่าวประเสริฐเป็นของขลัง ดังนั้น คนฟังบางครั้งจึงเชื่อ ๆ ไปโดยไม่เข้าใจอย่างแท้จริง

การที่คริสเตียนไม่ยอมไปงานเช็งเม้ง ไม่กราบไว้ศพพ่อแม่ ไม่กราบบรรพบุรุษ ไม่ร่วมงานระลึกการครบวันตายของญาติผู้ใหญ่ ถูกมองว่าเราเป็นคนอกตัญญู ไม่ลบหลู่พ่อแม่ คริสเตียนไปทำลาย ego และทำให้พวกพ่อแม่ของเราอายญาติต่างๆ ที่มีลูกอกตัญญู ทำให้พ่อแม่เราหน้าแตก หน้าชาและอาย จึงเสียหน้า ego ถูกกระทบอย่างแรงแต่เพราะความรักพ่อแม่จึงอดทนแต่ประตูใจปิดเสียแล้ว เพราะเขาไม่เข้าใจ ไม่ได้รับการอธิบายและที่สำคัญคริสเตียนไม่แคร์ในความรู้สึกของเขา

2. ชอบความสัมพันธ์อันเกิดจากการสร้างบุญคุณ (Grateful Relationship Orientation)

วัฒนธรรมไทยสนใจเรื่องความสัมพันธ์ จนมีคำกล่าวว่าความสัมพันธ์นำไปสู่ความสำเร็จหรือเด็ดบัวให้เหลือใย หรือบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น หรือน้ำขุ่นอยู่ข้างใน น้ำใสอยู่ข้างนอก หรือ บุญคุณต้องทดแทน (แค้นต้องชำระ) ในบรรดาความสัมพันธ์ทั้งหลายแหล่ ความสัมพันธ์ที่อาศัยความกตัญญูมาเป็นอันดับหนึ่ง คนไทยชอบสร้างบุญคุณ ตอบแทนบุญคุณ และสำนึกในบุญคุณ และหาช่องทางจะแสดงความสัมพันธ์นี้เป็นรูปธรรมทุกวิถีทาง จนมีคำกล่าวว่า “บุญคุณต้องทดแทน” การวัดบุญคุณที่ทดแทนวัดการเป็นปริมาณวัตถุไม่ได้ จึงต้องทดแทนการตลอดไปไม่มีวันหมดสิ้น

บุญคุณจะมีมากหรือน้อยขึ้นกับความต้องการของคน ปัญหาของคน ปริมาณที่ช่วยเหลือ และขนาดของความห่วงใย และความจริงใจ ผู้ที่มีบุญคุณต่อคนอื่นมากมักจะมีความสัมพันธ์ในวงกว้างและลึกต่อผู้คนจำนวนมาก คนบ้านนอกจะมีความรู้สึกนี้มากกว่าคนในเมืองหลวง ชาวไร่ชาวนาจะมีมากกว่า ข้าราชการและนักเรียนนักศึกษาจะมีน้อย คนที่ไปอยู่ตามชนบทมักจะสัมผัสกับความรู้สึกนี้มากกว่าความสัมพันธ์ใด ๆ ในเมืองใหญ่

คนที่ใช้ความสัมพันธ์นี้ทำให้คนอื่นเสียหน้าและเสียศักดิ์ศรีติย่อมไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่นได้ และความสัมพันธ์ที่มีมักจะหมดความหมายโดยปริยาย ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง คือ หมอบรัดเลย์ สร้างบุญคุณไว้มากกับคนไข้คนไทยและเชื้อพระวงค์ต่าง ๆ แต่ดูถูกศาสนาพุทธ ข้อดีละข้อเสียรวมกันแล้วทำให้หมอบรัดเลย์ขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไทย การเป็นพยานของหมอจึงไม่เกิดผล

มิชชั่นนารีชื่อ Casewell ที่สอนราชกาลที่ 4 อยู่หนึ่งปีครึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้ที่พักในวัดบวรนิเวศน์ ได้ประกาศกับพระสงฆ์ได้รับสิทธิในการเข้านอกออกใน และในที่สุดราชกาลที่ 4 ได้ออกกฎหมายให้คนไทยเลือกถือศาสนาได้เสรี

คริสเตียนจะใช้ค่านิยมและแบบแผนนี้ของคนไทยให้เป็นประโยชน์ต่อการประกาศพระกิตติคุณได้อย่างไร คริสเตียนผู้น้อยหรือคนที่เป็นบุตรหลานจะต้องไม่แสดงใดๆ ให้ ego ของพ่อแม่ญาติพี่น้องได้รับการกระทบกระเทือน เขาเป็นคนสนับสนุนดูแลเลี้ยงดูเรามา การกระทำใดๆ ที่ไม่ได้แสดงออกซึ่งการตอบแทนเป็นรูปธรรมจะถูกเข้าใจผิดได้ว่าอกตัญญู เมื่อคริสเตียนไทยไม่ใส่ใจเรื่องนี้ชีวิตก็จะไม่เกิดการผูกพัน คริสเตียนควรรักษาความสัมพันธ์และเพิ่มความสำคัญให้แนบแน่นกระชับให้มากที่สุดเพราะดูเหมือนว่า ข้อมูลแห่งพระกิตติคุณมักจะเดินไปตามสายของความสัมพันธ์ เหมือนกระแสไฟฟ้ามักจะเดินไปตามสายไฟฟ้าฉันนั้น ถ้าสายไฟฟ้าขาดพลังไฟฟ้าจะหยุดไหลฉันใด สายสัมพันธ์ถ้าขาดลงหรือไม่ดีเสียแล้วข่าวประเสริฐก็จะไม่สามารถไหลไปในเครือข่ายของสังคม (Social networks) ได้ถึงไหลไปได้ก็จะกระท่อนกระแท่น และถูกแปลความหมายอย่างไม่ถูกต้อง

3. ชอบความสัมพันธ์ที่นิ่มนวลต่อกันและกัน (Smooth Interpersonal Relationship Orientation)

          คนอเมริกันต่างกับคนไทยในข้อนี้ลิบลับ ค่านิยมของคนอมริกันคือ เป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน ชอบความสำเร็จ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความสำเร็จขึ้นมาด้วยตัวเอง คนอเมริกันมักดูถูกและไม่เข้าใจในพฤติกรรมของคนที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่นิ่มนวลต่อกัน

            คนไทยสนใจในทางตรงข้าม คนไทยสนใจค่านิยมที่มักไม่ทำให้ใครกระเทือนใจการติดต่อความสัมพันธ์กับใครก็มักจะมีการมัธยัสอารมณ์ ไม่ค่อยแสดงออกในการสนทนา สุภาพไม่ค่อยแสดงความคิดที่จะไปกระทบกระเทือนใจใคร ห่วงคนอื่น ห่วงในศักดิ์ศรีความรู้สึกของคนอื่น ด้วยเหตุนี้ปฏิสัมพันธ์สังสรรค์ใดๆ ของคนไทยจึงมักจะนิ่มนวล สุภาพ เรียบร้อยไม่ค่อยนิยมการขัดแย้ง การเผชิญหน้ามักจะรักษาการสนทนา การติดต่อให้ราบเรียบเข้าไว้ คนไทยเมื่อทำแบบนี้เข้าเรื่อยๆ จึงเป็นที่สุภาพมีกิริยาถ่อมในท่าทีและในบุคลิก สิ่งเหล่านี้ได้แสดงออกตรงท่าทางและอาการภายนอก และการปฏิบัติกับคนต่างๆค่านิยมในลักษณะนี้นักมนุษย์วิทยาเรียกว่า “Social Smoothing”

          ค่านิยมดังกล่าวจึงผลิตพฤติกรรมหรืออุปนิสัยของคนไทยออกมาอีก 8 อย่างด้วยกัน คือ

  1. รู้จักปฏิบัติต่อกันและกันอย่างดีด้วยความห่วงใยกัน
  2. ชอบช่วยเหลือและมีเมตตาจิต
  3. รู้จักที่จะปฏิบัติตอบในสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆอย่างดี
  4. รู้จักควบคุมตัวเองและอดทนอย่างสูง
  5. สุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน
  6. สงบเสงี่ยม
  7. สำรวม
  8. มีปฏิสัมพันธ์สังสรรค์ในสังคมได้ดี

การค้นพบค่านิยมและพฤติกรรมนี้ ทำให้พบว่าคนอเมริกันไม่มีข้อ 137 และ 8 ค่านิยมเหล่านี้ได้ฝังลึกในคนไทยและส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์สังสรรค์ในทุกเรื่องในสังคมด้วยค่านิยมอันนี้เอง จึงทำให้เกิดคำต่างๆเช่น “ไม่เป็นไร”“ใจเย็นๆ”“อะไรก็ได้” และ “อารมณ์ดี” คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ ให้นิ่มนวลไม่มีอุปสรรค

คนอเมริกันจะไม่รู้จักคำว่ารักษาน้ำใจหรือไม่สนใจเรื่องน้ำใจ แต่สำหรับคนไทยมักจะสนใจเรื่องนี้ จึงมีคำว่า “รักษาน้ำใจ”“เกรงใจ”“ไม่อยากทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของใคร ไม่ค่อยปฏิเสธ เจตนาดี และความตั้งใจดีของใคร แม้จะไม่ค่อยที่จะตรงกับใจของเรา หรือบางทีเราไม่ชอบ แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น เราก็อดทนเอาไว้ เพราะไม่อยากทำให้คู่สนทนารู้สึกไม่ดี คนไทยไม่ชอบเผชิญหน้าด้วยการใช้วาจา เพราะจะพยายามหลีกเลี่ยง การกระทบใจกันในทุกรูปแบบ

หนังสือพิมพ์หลักของไทยฉบับที่ 498 ปีที่ 1991 หน้าที่ 9 ได้ลงบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ของเอคอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า การปฏิวัติ ปฏิรูปแต่ละครั้ง การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีกระทำกันได้อย่างนิ่มนวล ไม่มีเสียเลือดเนื้อนายกคนใหม่จะเชิญนายกคนก่อนออกจากตำแหน่ง โดยการให้ออกจากประเทศชั่วคราว บางคนยังแถมเอาเงินใส่ซอง 2,000 เหรียญให้ เพื่อจะได้ว่าไม่ลำบากในการดำรงชีวิต ในต่างประเทศพูดว่า “ผมนำสิ่งนี้มาให้พี่ ผมก็มีเพียงแค่นี้” การแสดงเช่นนี้ คนไทยเรียกว่า “การมีน้ำใจ”

คนไทยพัฒนาบุคลิกภาพให้เหมาะแก่ค่านิยมในข้อนี้ โดยการรู้จักคุมตัวเอง อดทน สุภาพ ถ่อมใจ เอาสิ่งนี้เป็นเกราะป้องกัน เพื่อว่าจะได้ปฏิสัมพันธ์สังสรรค์อย่างเป็นกันเอง และไม่ไปทำใครเสียความรู้สึก จากผลการศึกษาพบว่า คนไทยแสดงบุคลิกภาพที่รุนแรงเพียง 1% ถ้าคนไทยคนใดแสดงออกกอย่างไม่เหมาะสมจะมีคำเรียกคนนั้นว่า “หมั่นใส้”

พฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เอาชนะใจคนไทย ต้องเป็นพฤติกรรมที่สุภาพ อ่อนน้อม ดังสุภาษิตที่ว่า “อ่อนนอก แข็งใน” หรือ “ชอบงอ ไม่ชอบหัก”

ดังนั้นพฤติกรรมของคนตะวันตกที่พูดอะไรตรงไปตรงมา เพื่อเอาชนะกัน เพื่อแข่งขันกัน เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะ มีลำหักลำโค่น หรือพูดให้เห็นดำเห็นแดง ให้ชนะกันไปข้างหนึ่ง หรือ “คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น” มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการงานและในธุรกิจในสังคมไทย คนที่พูดและแสดงแบบนั้นแต่เพียงอย่างเดียว จะไม่มีคนมาสุงสิง ให้ความร่วมมือ ตัวอย่างเช่น นายอมเรศ ศิลาอ่อน รองประธานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัดได้ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ถูกสกัดไม่ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานฯ 3 ครั้ง 3 หน

เหตุผลที่นายอมเรศถูกสกัดก็เพราะว่า เป็นคนพูดตรงเกินไป จะเอาแต่งาน ชอบนิยมความสำเร็จอย่างเดียว ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น มีบุคลิกภาพที่ไม่เข้ากับคน ผู้ใหญ่และผู้น้อยจำนวนมากไม่ชอบในบุคลิกภาพ (มติชน 9 เมษายน 1990)

อีกรายหนึ่งคือ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักจัดรายการโทรทัศน์แนวใหม่ที่มีความคิดความอ่านเป็นเลิศ เป็นนักเรียนทุน AFS จบการศึกษาชั้นสูงจากสหรัฐ แต่ต้องมาพ่ายแพ้และหมดทางทำมาหากิน เพราะนิสัยที่ตรงเกินไป พูดจาไม่มีหูรูด แสดงพฤติกรรมโดยไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง นายสมเกียรติจึงต้องได้รับบทเรียนราคาแพง แม้ประชาชนจะชอบในความคิดและในรายการ แต่นายสมเกียรติก็ผลิตศัตรูมากมาย จึงต้องลาออกจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง มีครั้งหนึ่ง นายสมเกียรติไปถ่ายทำ ถาดอาหารที่รับประทานแล้วของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ จึงถูกตำหนิจากม.ร.ว.คึกฤทธิ์ว่า “กุ๊ย” และถูกบังคับให้ออกทีวีขอโทษ

การเป็นฯพยาน การสนทนากับพุทธศาสนิกชน ที่ใช้ว่าหักลำหักโค่น จ้องจะพูดพระกิตติคุณให้จบจบไป การแก้ความคิดของคนพุทธแบบเผชิญหน้าและท้าท้าย การแสดงอาการแข็งกร้าวไม่ลดราวาศอกในการที่จะพิชิตความคิดของคู่สนทนาในเรื่องศาสนศาสตร์ การขยั่นขะยอให้รับเชื่อโดยที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ทำงานและผู้ฟังยังไม่สนใจ จะทำให้ผู้ฟังพระกิตติคุณ เกิดความรู้สึกถูกลิดรอน “Ego” ถูกหักหาญน้ำใจไม่เกิดความประทับใจ และส่งผลเสียในการปฏิสัมพันธ์สังสรรค์ นี่กระมังที่ทำให้คนพุทธมองเห็นคริสเตียนแล้วคิดไปว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ใช่ไทย ดูแปลกๆ จะเอาอะไรกันนักกันหนา ทำไมจึงจะต้องเอาอะไรกันมากมายขนาดนั้น

ถ้าเช่นนั้นการเป็นพยานที่ดีจากมุมมองของคนพุทธ เพื่อรักษาและถนอมค่านิยมนี้ไว้ จะต้องมีลักษณะอย่างไร ซึ่งจะกล่าวต่อไปในครั้งหน้า

4. ชอบมีความยืดหยุ่น และคล่องแคล่วในการปรับตัว (Flexiblity and Adjustment Orienation)

            คนไทยนอกจากจะหยิ่งในศักดิ์ศรีและไม่ยอมให้ใครมาแตะและชอบให้ความสัมพันธ์นิ่มนวล ราบเรียบแล้ว คนไทยยังเก่งในเรื่องการยืดหยุ่นและปรับตัวเข้าหากันคนไทยปรับตัวและชีวิตเก่งเพื่อให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ และไม่ชอบยึดหลักกาที่ตายตัว แต่ชอบการยืดหยุ่นได้บ้าง ปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ จนมีคำต่างๆ เช่น อะลุ้มอล่วย

            สำหรับคนไทยไม่มีอะไรจะเปลี่ยนไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะน่าตกใจ หรือแข็งเสียจนปรับไม่ได้ หรือเปลี่ยนไม่ได้ ค่านิยมนี้ทำให้คนไทยเปลี่ยนแผนและความตั้งใจอยู่เนืองๆรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นหลักมาตรฐานสูงสุดของประเทศก็สามารถเปลี่ยนไปได้ตั้ง 10 กว่าครั้ง ในขณะที่อเมริกาจะไม่เปลี่ยนเลย

            คนไทยจึงเลิกเชื่อง่ายๆ เลื่อนการเชื่อออกไปจนถึงชาติหน้า เปลี่ยนใจได้ง่ายๆวันนี้บอกอย่างพรุ่งนี้บอกอีกอย่างก็ได้ แล้วบางทีก็เปลี่ยนหลักการเสียดื้อๆ วันนี้ออกกฎหนึ่งเดือนหน้าอาจเปลี่ยนไปอีกกฎหนึ่งก็ได้

            ค่านิยมนี้จะนำมาใช้อะไรเป็นพยาน คนไทยสนใจดูชีวิตคริสเตียนมากกว่าสนใจเรื่องเชื่อจะไปสวรรค์ ปฏิเสธจะลงนรก นั่นเป็นหลักการ แต่คนไทยก็สนใจดูชีวิตของคริสเตียน ในสถานการณ์ต่างๆ ชีวิตพวกคริสเตียนต่างหาก ที่จะทำให้พวกเขาประทับใจไม่ใช่หลักการอย่างเดียว ไม่ใช่คำสอนและหลักข้อเชื่ออย่างเดียว ถ้าชีวิตคริสเตียนทำให้เขาประทับใจแล้ว การพูดหลักข้อเชื่อหรือข้อมูลย่อมผ่านเข้าสู่จิตใจได้ง่าย

            คนฝรั่งกลับใจมาเป็นคริสเตียนเพราะเข้าใจคำสอนและ Concept แต่คนไทยเห็นผลในคำสอนจากชีวิตพวกคริสเตียนเสียก่อน คริสเตียนจึงควรสนใจเรื่องเช่นนี้

5. ชอบศาสนาที่เป็นรูปธรรม (Reigio- Psychical Orientation)

คนไทยถือพุทธศาสนา 95% คนไทยไม่ค่อยมีความรู้อย่างลึกซึ่งในพุทธศาสนาไม่สนใจหลักธรรมสูงสุดหรือที่แก่น คนไทยไม่สนใจการไปนิพพานใดๆ ไม่สนใจหลักคำสอนที่นำไปสู่การหลุดพ้น บางคนไม่มีความรู้เอาเสียเลย บางคนไม่เคยเชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้า สวรรค์ นรก การเวียนว่ายตายเกิด มักจะสงสัยในชาติหน้าและชีวิตในภพงหน้าอยู่เสมอ คนไทยนับถือศาสนาแบบเป็นรูปธรรม หรือพุทธประชา คือศาสนาที่ดีต้องมีผลประโยชน์มาให้เห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตปัจจุบัน

ด้วยค่านิยมนี้ การเสนอพระกิตติคุณกับคนไทยโดยใช้การโต้แย้งพิสูจน์นี้ให้เห็นดำเห็นแดง ย่อมเป็นที่สนใจของคนพุทธที่สนใจธรรมะแบบพุทธทาส พุทธแบบพุทธประชา ไม่สนใจแบบนั้น ถ้าเราชักชวนให้เขาไปสวรรค์ ได้รับชีวิตนิรันดร์มักจะทำให้คนพุทธไม่สนใจเท่าที่ควร อนาคตไม่สำคัญเท่าปัจจุบัน

คนพุทธต้องการการรุมล้อมจำนวนมาก เขาหันเข้าศาสนาก็เพื่อให้ศาสนาเป็นทางออกแก่ความต้องการของเขาทางวัตถุและทางจิตใจ ศาสนาที่ดีต้องช่วยให้เห็นผลทันที ต้องนำให้เขาหาความสุขใจในโลกนี้ได้ คนไทยโดยมากมีโลกทัศน์แบบพุทธประชาความดีของพระเยซูต้องแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังเช่นในพระคัมภีร์ การโต้แย้งทางศาสนศาสตร์ อาจทำให้บางคนอิ่มในการแสวงหา แต่พวกพุทธประชาต้องการอิ่มในความรู้สึกที่ถูกเศรษกิจและสิ่งแวดล้อมบีบคั้น

พระเยซูต้องถูกเสนอเป็น “ผู้เสียสละเพื่อผู้อื่น” ผู้เสด็จมาขจัดความกลัว ประทานความสุข ปลดปล่อยความเหน็ดเหนื่อย ขจัดปัญหาจะดีกว่าการเสนอพระเยซูเป็นผู้ให้ชีวิตนิรันดร์ เราต้องนำจุดนี้ให้เป็นรูปธรรมก่อน จากนั้นจึงนำเขาไปอีกขั้นหนึ่งคือ พระเยซูเสด็จมาเพื่อทำมากกว่าที่เขาอยากได้ คือให้ชีวิตนิรันดร

6. ชอบใช้การศึกษาเป็นหนทางไปสู่การก้าวหน้า (Education and Competnce Orientation)

การวิจัยค้นพบว่าคนไทยไม่ได้สนใจจะเพิ่มพูนความรู้เพื่อแก้ไขปัญหา แต่หาความรู้เพื่อเอาปริญญาไปใช้เป็นเครื่องมือหากิน ก้าวหน้าต่อไปในชีวิต คนไทยไม่นิยมการศึกษาเพื่อการศึกษา หรือเพื่อวิจัยค้นคว้าเพื่อหาคำตอบในการแก้ไขปัญหา แต่จ้องจะเอาปริญญาไปหาเงินทอง การศึกษาเป็นแบบวิถีในการไต่กระไดในสังคม เพื่อรับยศถาบรรดาศักดิ์และลาภ ยศ สรรเสริญ

จากค่านิยมอันนี้ คนไทยจึงสนใจในรูปแบบ (form) ของการศึกษามากกว่าสนใจในแก่น หรือสาระของการศึกษา คนไทยสนใจภายนอกมากกว่าภายใน ชอบอวดกันภายนอกมากกว่าอวดภายใน เนื่องจากคนไทยสนใจ “ego”“หน้าตา” และความสัมพันธ์ในสังคม จึงทำให้คนไทยสนใจ ปรัญชา เหรียญตรา สายสะพาย ปากกามีดาว เสื้อตรายี่ห้อดีๆ รถยี่ห้อดีๆ เพราะการได้ถือครองสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะอำนวยความสะดวกสบายและใช้ของมีประสิทธิภาพ มีอายุยาวนานแล้ว ยังให้ “ego”“face” อีกด้วย เพราะของพวกนี้จัดคนไว้โดยคนชมให้อยู่ในสังคมระดับสูง ซึ่งจะทำให้ได้รับเกียรติ คำชม ความเคารพ ส่วนแก่นแท้และคุณธรรมของคนจะเป็นอย่างไร คนไทยมักจะสนใจน้อยลงไปทุกที

ค่านิยมนี้บอกว่าคนไทยไม่ค่อยสนใจแก่นหรือสาระของพระกิตติคุณ ซึ่งเราพยายามจะบอกให้รู้ แต่ถ้ามาเป็นคริสเตียนจะทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือ และผลประโยชน์เช่น หายโรค มีความสุข พ้นทุกข์ พ้นร้าย ได้งาน ได้ความรู้ภาษาอังกฤษ ได้รู้จักฝรั้ง ได้มีโอกาสก้าวไปสูชีวิตที่ดีกว่า คนไทยก็มักจะฟังสิ่งที่ตรงนั้น คำถามที่น่าถามคือว่า เราจะเริ่มจากการที่คนฟังสนใจแล้วนำเขามาสนใจในสิ่งที่พระเยซูสนใจได้หรือไม่

ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งคือ เมื่อมิชชันนารีอเมริกันขี่รถจิ๊ป แต่งตัวภูมิฐาน มีบ้านหลังใหญ่ มีของดีๆ ใช้ไปประกาศกับพวกเกาหลีใต้ คนพวกนี้ก็อยากเป็นคริสเตียนเพราะ เขาเชื่ออย่างจริงใจว่า ถ้าเป็นคริสเตียน พระเจ้าจะอวยพระพรให้มีชีวิตดีขึ้นดังเช่นมิชชันนารี แม้ว่าความคิดและความเชื่อของเขาอาจจะไม่ถูกครบถ้วน แต่พระเจ้าก็ใช้ความคิดเช่นนั้น นำให้เขามาสนใจรับเชื่อพระเยซูได้

เมื่อเป็นคริสเตียนแล้ว เขาก็เห็นคนเป็นศิษยาภิบาลมีคนเคารพยกย่อง มีอำนาจ มีวาจาเป็นน้ำหนัก เขาก็อยากจะเป็นคนที่ได้รับพรเช่นนั้น เขาก็มาถวายตัวกันเป็นผู้รับใช้ แม้ว่าทัศนคติของเขาอาจไม่ถูกต้อง 100% ในการเป็นผู้รับใช้ แต่การอบรมเลี้ยงดูจะช่วยทำให้เขาได้รับการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้

7. ชอบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Interdependence Orientaion)

สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมความช่วยเหลือเกื้อกูล สังคมไทยดำเนินไปได้ก็เพราะ คนในสังคมสละแรงกาย แรงใจ แรงทรัพย์ เกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยกัน คนไทยจึงนิยมช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน ถ้ารถยนต์ของคนกรุงเทพไปตายที่บ้านนอก หรือตกหลุม ตกหล่ม คนบ้านนอกจะออกมาช่วยเหลือกันจนงานเสร็จ โดยไม่คิดหวังการตอบแทนใดๆ เมื่อ 20ปีก่อนเมื่อรถของใครตายบนถนนในกทม. ก็จะมีรถหยุดช่วยกันแก้ ฉุดลากไปเข้าอู่ แต่เดี๋ยวนี้หายากขึ้น นอกจากในชนบทคงจะมีการลงแขกให้เห็น เมื่อก่อนบ้านใครมีคนเจ็บป่วย หรือตาย หรือแต่งงาน หรืองานบุญ ชาวบ้านทั้งหมดก็จะมาช่วยเหลือกันจนภาระต่างๆสำเร็จสิ้นไป

เรื่องตัวใครตัวมันดูเหมือนจะพอเห็นได้ในสังคมยุค IMF แต่ในชนบทยังมีให้เห็นกันอยู่เสมอ ในสมัยก่อนเมื่อพระคลังมายืมแท่นพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ หมอบอกว่า ให้ไม่ได้เพราะใช้พิมพ์เฉพาะพระวจนะของพระเจ้าเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระคลังไม่พอใจและคิดว่ามิชชันนารีใจดำ การรู้ค่านิยมเช่นนี้ช่วยให้มิชชันนารีระวังเนื้อระวังตัวไว้บ้าง เพราะคนไทยมีค่านิยมว่าคนเราย่อมต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่หมอบรัดเลย์มีค่านิยมว่าของใครของมันจะยืมกันไม่ได้ อยากมีก็ต้องซื้อเอง

คริสตจักรเมืองไทยก็เช่นกัน หลายครั้งมีคนมาขอจอดรถ มีพระมาขอใช้ลานจอกรถ และทางคริสตจักรก็ไปขอจอดรถที่วัด ยืมเก้าอี้วัด บางทีไฟไหม้ ชาวบ้านก็ขอให้เปิดประตูเหล็ก เพื่อจะพึ่งพาอาศัยสถานที่ที่จะขนของเข้ามา คนไทยเรามีความคิดพึ่งพาอาศัยเช่นนี้

เราจะใช้ค่านิยมนี้ในการเป็นพยานได้อย่างไร การช่วยเหลือเกื้อกูล การร่วมมือ การช่วยงานต่างๆ ทำให้ชาวบ้านและคนในสังคมยอมรับคริสเตียนว่าเป็นคนใน (insiders) ไม่ใช่คนนอก (outsiders) ซึ่งจะช่วยให้คนฟังมากขึ้นเวลาเราสื่อสารพระกิตติคุณ

8. ชอบสนุกและสบาย (Fun and Pleasure Orientation)

            มีคำกล่าวว่า คนไทยเป็นคนเบื่อง่าย ไม่ใช่เบื่อเพราะไม่มีอะไรทำ แต่เบื่อเพราะทำอะไรที่ซ้ำซากจำเจไม่ค่อยได้เพราะไม่ “สนุก” การทำงานในโรงงานในอุตสาหกรรมก็ดี หรือในคริสตจักรก็ดี ต้องการการกัดติด ถวายชีวิตในการทำงานให้สำเร็จอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แต่คนไทยก็มักจะถูกมองว่าขี้เกียจ ไม่เอาจริง ชอบแต่สนุก และสะดวกสบาย ความคิดนี้มาจาก Ruth Benedict (1943) และ Embree’s (1950)

            ความเชื่อในเรื่องดังกล่าว มีมูลความจริงเพียงใด ผลการวิจัยของดร. สุนทรี โกร์มิน พบว่า ความเชื่อดังกล่าวไปเห็นเฉพาะภายนอกของคนไทย เห็นแต่ผิวเผิน คนไทยเป็นคนทำงานหนัก อดทนมากที่สุดในโลกชาติหนึ่ง คนในกทม. และข้าราชการต่างหากที่แสดงอาการชอบสนุก แต่ทว่าคนในชนบทจะทำงานหนัก การที่คนไทยต้องยิ้มและมีพฤติกรรมที่นุ่มนวลต่อกันก็เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ เพราะเป็นค่านิยมของเขา การที่คนไทยต้องทำสนุก ยิ้ม หัวเราะ ไม่ serious แต่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามพอใจ มีความสุข ก็เพราะเขามีค่านิยมดังกล่าว

            ผลงานวิจัยพบว่า คนไทยสนใจทำงานหนักมากกว่าชอบสนุกสนานไปวันๆ คนอีสานทำนา หนักเอาเบาสู้ คนไทยเดินทางไปขายแรงงาน ต้องทำงานเช้าจรดเย็นเจ้านายของคนงานเหล่านี้ลงมติว่า คนไทยทำงานจริงและทำงานหนัก เรือประมงทางภาคใต้เกือบทั้งหมดต้องจ้างคนอีสานไปทำงานเพราะพวกเขาทำงานหนักมากได้และอดมื้อกินมื้อได้ หญิงไทยไปขายแรงงานเป็นแม่บ้านในที่ต่างๆมากมาย หญิงพวกนี้ทำงานหนัก คนไทยอดทนสูง งานที่เขาทำอยู่ เขาแสดงอย่างนั้นเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น คนไทยประพฤติเช่นนี้เพราะเขาต้องแต่งเครื่องสำอางทางสังคมให้ดูภายนอกสวยงามและดี

            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คริสเตียนไทยต้องทำเรื่องราวของพระเยซูให้สนุกน่าสนใจ น่าศึกษา น่าฟัง น่าคิด คนอเมริกันเป็นคนเคร่งเครียด การเสนอพระกิตติคุณที่เคร่งเครียคไม่สนุก ย่อมไม่เข้ากับค่านิยมของคนไทย การเสนอพระกิตติคุณที่เอาจริงเอาจังต้องรับหรือไม่รับพระเยซูเดี๋ยวนี้ไปกับค่านิยมอันนี้ของคนไทย

9. ชอบสร้างความสำเร็จด้วยความสัมพันธ์ ไม่ใช่การทำงานหนัก (Achievement Task Orientation)

            ค่านิยมอันนี้เป็นค่านิยมที่ต่างจากคนตะวันตกโดยสิ้นเชิง คนตะวันตกทำงานด้วยต้องการจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จโดยกัดติดและทำงานหนัก และทำแบบถวายตัวเอาเป็นเอาตาย เพราะการทำงานหนักนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เรียนให้สูงแสดงความสามารถให้มาก ทำงานให้หนักย่อมเป็นทางไปสู่ความสำเร็จ

            แต่ผลงานวิจัยพบว่า คนไทยไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่จะทะเยอทะยานไปสู่ความสำเร็จโดยการลงทุนทำงานให้หนัก คนไทยให้ความสำคัญในเรื่องความสำเร็จผ่านความสัมพันธ์มากกว่าความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานหนัก

            คนไทยชอบทำงานหนักโดยวิธีลงแขก ทำร่วมกันเป็นกลุ่ม ผลงานวิจัยพบว่าความคิดในเรื่องการทำงานหนักของคนไทยต่างจากการทำงานของคนอเมริกัน คนตะวันตกสนใจทำงานหนัก เพราะงานหนักนำชีวิตของเขาไปสู่ความสำเร็จ ใครทำมากคนนั้นได้มาก ยิ่งใครทำมากก็เร่งเครื่องยนต์ของชีวิตไปสู่หลักชัยได้เร็วเท่านั้น คนตะวันตกจึงสนใจการแข่งขัน การเชิงดีเชิงได้กัน

            มิชชันนารีและคริสเตียนไทยจึงกลายเป็นคนที่ทำงานประกาศเพื่อจะเป็นคริสตจักรที่ประสบความสำเร็จ มีการนับจำนวนเพื่อดูว่าสำเร็จเพียงใด พฤติกรรมเช่นนี้นำไปสู่การท้อใจอยู่เนืองๆในวงการคริสเตียนไทย

            คนไทยในกทม. 64.9%และคนไทยในต่างจังหวัด 55.2% สนใจการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่าความสำเร็จ คริสตจักรที่ต้องการความสำเร็จจะยินดีเสียความสัมพันธ์เพื่อจะให้ตัวเองสำเร็จไปคนเดียว และยอมเสียความสัมพันธ์กับคริสตจักรท้องถิ่นต่างๆ

            สำหรับคนไทยแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีจะนำไปสู่ความสำเร็จในเกือบทุกเรื่องความสามารถอย่างเดียวไม่สามารถถีบตัวของตัวเลขให้สำเร็จได้เสมอไป ตัวอย่างของนาย สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ การทำงานหนักในสังคมไทยอย่างเดียวไม่พอ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนงานทั่วไปย่อมมีความสำคัญต่อความสำเร็จด้วย

            ค่านิยมนี้มีผลอย่างไรต่อการประกาศฯ และการดำรงชีวิตคริสเตียน มิชชั่นนารีและคริสเตียนไทยที่หวังจะทำงานหนัก เป็นพยานอย่างดุเดือดทำเป้าให้ได้วันละหลายๆคน ต้องการจะบีบคั้นสามี ภริยาและเพื่อนที่ไม่เป็นคริสเตียนเพื่อหวังจะให้เป็นคริสเตียน โดยไม่สนใจใยดีต่อความสัมพันธ์ย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จ ยิ่งใช้วิธีการนี้มากเท่าไร ก็จะพบว่ายิ่งเป็นคริสเตียนนานขึ้น มีเพื่อนคนพุทธน้อยลง ญาติพี่น้องห่างเหิน เพราะเราไม่ยอมไปงานบุญ งานศพ งานเช็งเม้ง การพิธีระลึกถึงพ่อแม่พี่น้อง ทำให้ขาดความสัมพันธ์ไปหมดในเครือข่ายสังคม (social networks) ขาดสะบั่น แล้วเราจะไปเป็นพยานได้อย่างไร

            แม้ว่าคริสเตียนไทยจะไม่มีเจตนาจะทำลายความสัมพันธ์ก็ตาม แต่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากจะตัดสินว่าเราเป็นคนอกตัญญูเพราะค่านิยมในข้อนี้ของคนไทยนั่นเอง

            ในข้อนี้ข้อสรุปว่า ความสามารถที่นำไปสู่ความสำเร็จต้องอาศัยความสัมพันธ์เสมอไปในสังคมไทย

Green City